แต่ละบริษัทก็มีกฎเกณฑ์ ข้อห้ามและข้อปฏิบัติที่แตกต่างกันไป รวมถึงบทลงโทษพนักงานที่ไม่ประพฤติตามข้อปฏิบัติดังกล่าว ทั้งพนักงานและฟรีแลนซ์เองก็เช่นกัน โดยบทลงโทษที่ว่าก็มีหลากหลายระดับ ตั้งแต่เรียกไปว่ากล่าวตักเตือนกับแบบพอให้รู้สึกผิด การลงบันทึกหรือแจกใบเตือน หากครบกี่ครั้งจะมีผลต่อโบนัสหรือการประเมินก็ว่าไป รวมถึง “การหักเงินเดือน” ซึ่งข้อนี้เชื่อว่ามนุษย์ออฟฟิศอย่างเราคงไม่ถูกใจนัก
จนหลาย ๆ คนเริ่มตั้งคำถามว่า เอ๊ะ จริง ๆ แล้วการหักเงินเดือนที่บางองค์กรชอบทำนั้น เป็นบทลงโทษที่ถูกต้องตามกฎหมายแรงงานหรือไม่ ในหลักปฏิบัตินั้นทำได้จริงไหม หรือจริง ๆ แล้วเป็นกฎที่ทางบริษัทตั้งขึ้นมาเองแบบเอาเปรียบลูกจ้างอย่างเรา ในทางกลับกัน ทุกครั้งที่โดนหัวหน้าหรือเอชอาร์เรียกไปว่ากล่าวตักเตือน คุณเองก็ต้องยอมรับความจริงแบบไม่เข้าข้างตัวเองด้วยเช่นกัน ว่าสิ่งที่เราทำนั้น ถือเป็นการละเมิดข้อบังคับหรือ Privacy อะไรต่าง ๆ ของบริษัทจริงไหม
ที่กล่าวไปนั้น ไม่ได้จะโทษว่าเป็นความผิดใคร หรือมองว่าการหักเงินเดือนเป็นสิ่งผิด เพียงจะสื่อว่าพอเป็นเรื่องของการตีความที่เกี่ยวข้องกับตัวบทกฎหมาย บริบททั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างก็ถูกนำมาประเมินร่วมกัน หากคุณมีส่วนผิดตามข้อเท็จจริง ไม่ว่าฝ่ายไหนก็อาจจะแพ้คดีได้นั่นเอง
ขาด ลา มาสาย นายจ้างหักเงินเดือนได้ไหม?
หากให้พูดตามตรงจะด้วยปัจจัยอะไรก็ตาม ไม่ว่าบ้านไกล รถติด รถเสีย ตื่นสาย ต้องส่งลูกไปโรงเรียนทุกเช้าหรือสิ่งอื่นใด ทั้งหมดนั้นก็เป็นเหตุผลที่ทางเอชอาร์มองว่าฟังไม่ขึ้น หากนาน ๆ ทียังพอเข้าใจ เป็นสิ่งที่พอรับได้แบบเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ แต่ถ้านาน ๆ ถี่จนสะสมเป็นหลายครั้งเข้า บริษัทบางแห่งก็อาจจะเลือกวิธีหักเงินเดือนเป็นทางออก ชดเชยที่ลูกจ้างเอาเปรียบเรื่องชั่วโมงการทำงานที่น้อยลง
หักเงินเดือนผิดกฎหมายแรงงาน?
ส่วนในแง่ของกฎหมายนั้น ไม่ว่าจะเป็นการ “หักเงินเดือน” หรือ “ลดเงินเดือน” ทั้งสองบทลงโทษนี้ หากยึดตามกฎหมายแล้วเป็นสิ่งที่ “นายจ้างทำไม่ได้”
ขัดกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาตรา 76 ที่ระบุเอาไว้ว่า ห้ามมิให้หักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด จากข้อบังคับนี้จะเห็นได้ว่ากฎหมายห้ามมิให้หักค่าจ้างไว้อย่างชัดเจน การขาด มาสาย หรือทำงานผิดพลาด โดยปกติสามารถลงโทษได้ แต่ต้องลงโทษที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้ สรุปคือ “บริษัทไม่สามารถลงโทษพนักงานที่มาทำงานสายโดยการหักเงินเดือนได้”
Tips : จริง ๆ แล้วการหักเงินเดือน ในกรณีมาสาย เป็นเรื่องที่ทำได้ หากฝ่ายลูกจ้างยินยอมพร้อมใจ หรือยืนยันความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร
แนวทางการปฏิบัติหากลูกจ้างมาสายหรือลาบ่อย
ก่อนอื่นขอแบ่งให้ชัด เรื่องการมาสายและการลาบ่อย ทั้งสองเคสนี้ต้องแยกออกจากกัน กรณีที่พนักงานมาสายเป็นประจำ ถึงตรงนี้นายจ้างคงทราบกันดีแล้วว่า การหักเงินเดือนเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ลูกจ้างสามารถร้องเรียนได้องค์กรของคุณได้ แนะนำว่าให้แก้ปัญหาโดยการออกหนังสือตักเตือน หรือให้ทำงานชดเชยเวลา ทำชดเชยเวลา เช่น มาสายไป 40 นาที ก็ให้ทำงานชดเชยเวลาไปอีก 40 นาที หรือให้รางวัลให้กับพนักงานที่ไม่เคยมาทำงานสายเพื่อเป็นแรงจูงใจ
อย่างไรก็ตาม หากการแก้ปัญหาเหล่านั้นไม่ได้พ้น กลับหนักข้อขึ้นไปถึงขั้นพักงานไม่เกิน 7 วัน ไปจนถึงการเลิกจ้างงานได้ แต่ไม่สามารถลงลงโทษด้วยการหักค่าจ้างได้ ยกเว้นลูกจ้างยินยอมให้หัก เพราะผิดกฎหมายอย่างชัดเจนในมาตรา 76 และการลงโทษด้วยการหักค่าจ้างก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้
ส่วนเรื่องการลาบ่อย ข้อนี้นายจ้างต้องเข้าใจว่า หากพนักงานของคุณลาไปตามสิทธิ์ของเขาที่พึงมี ไม่ว่าจะเป็นการลาป่วย ลากิจ ลาพักร้อน ทั้งหมดนั้นเป็นสิทธิ์ที่ลูกจ้างทุกคนได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน เป็นสิทธิของลูกจ้างที่กฎหมายรองรับให้ทำได้ หากลาอยู่ในจำนวนวันที่พวกเขาได้รับ คุณเองไม่มีสิทธิ์ที่จะลงโทษอะไรทั้งสิ้น จะแจ้งเตือน พักงาน ไปจนถึงหักเงินก็ไม่มีสิทธิ์ลงโทษอะไรเลย
ลูกจ้างทำความเสียหายให้นายจ้าง หักเงินเดือนได้ไหม?
มากันที่อีกหนึ่งประเด็นข้อสงสัย หากคุณเผลอไปทำอะไรให้องค์กรเดือดร้อนหรือเสียหาย จะด้วยเจตนาที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ บริษัทจะหักเงินคุณได้ไหม คำตอบของคำถามนี้เหมือนกันกับเรื่องการมาสาย เพราะยึดอ้างอิงตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มาตรา 76 ระบุว่า ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง โดยหลักแล้ว นายจ้างจะหักเงินเดือนไม่ได้ ยกเว้นลูกจ้างยินยอมให้หัก ใครโดนก็ไปร้องเรียนได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (ต้องดูเป็นกรณีไปเช่นกัน)
หักเงินเดือนแบบไหน ถูกต้องตามกฎหมาย
เป็นปกติของทุกข้อกฎหมายที่มีบางเรื่องได้รับข้อยกเว้น เช่นเดียวกันการหักหรือลดเงินเดือนไม่ใช่เรื่องที่ผิดต่อหลักกฎหมายเสมอไป บางกรณีนายจ้างสามารถหักค่าจ้างได้เช่นเดียวกัน โดยทั้งหมดนั้นต้องผ่านการยินยอมหรือการยอมรับแบบเป็นลายลักษณ์อักษร ทว่าต้องสอดคล้องกับกรณีดังต่อไปนี้
- หักภาษีหรือชำระเงินอื่นๆ ที่กฎหมายกำหนด
- หักค่าสหภาพแรงงานฯ
- ชำระหนี้สหกรณ์
- หักเงินประกันบางประเภท หรือหักค่าเสียหายโดยลูกจ้างต้องยินยอม
- หักเงินสะสม
- ชำระภาษีเงินได้
- ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ
- เงินประกัน เงินสะสมตามข้อตกลง
- ชำระเงินคืนบริษัท เพื่อการชำระหนี้ ได้แก่ ค่าเครื่องแบบ ค่าตรวจสุขภาพก่อนเริ่มงาน ค่าเสียหายจากที่พนักงานกระทำความผิดไม่อยู่ปฏิบัติงานตามสัญญา โดยพนักงานได้ทำหนังสือยินยอมตั้งแต่ครั้งแรกก่อนเริ่มงาน หากไม่อยู่ปฏิบัติงาน จนพ้นขั้นทดลองงาน ยินยอมให้บริษัทหักเงินจากเงินเดือนตามจำนวนที่ระบุไว้ในเอกสาร
- เงินสำรองใด ๆ อันเป็นธุระของพนักงานเอง เช่น ค่าเปิดบัญชีธนาคาร ค่าธรรมเนียมบัตร ATM ค่ารักษาพยาบาลส่วนเกินสิทธิที่พนักงานได้รับ เป็นต้น
จริงอยู่ที่การหักเงินเดือนเป็นเรื่องมิชอบทางกฎหมาย เราเองในฐานะคนทำงาน ก็ควรทำงานอย่างเต็มที่ รับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองให้สุดแบบไม่เอาเปรียบบริษัท อะไรที่เป็นสิทธิ์ของเราอย่างวันลาก็ใช้ให้เป็นปกติแบบไม่ต้องมองว่าใครจะคิดอย่างไร
Cr. JobsDB