Brainstorming

Brainstorming รวบตึงไอเดียดี ความคิดเด็ดจากการระดมสมองของทุกคน

นับเป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่หลากหลายองค์กรนำมาปรับใช้ในการแก้ปัญหา หรือพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ มักนิยมทั้งใน ฟรีแลนซ์ และออฟฟิสต่างๆ เช่นกัน เพราะเป็นวิธีการที่ช่วยให้ได้ผลลัพธ์ที่หลากหลายและแปลกใหม่ ทั้งยังเปิดโอกาสให้ทุกคนในทีมมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอีกด้วย ซึ่งการจะระดมสมองให้มีประสิทธิภาพนั้น เราจำเป็นต้องเข้าใจความหมาย หลักการ และขั้นตอนปฏิบัติให้ดี ดังนี้

การระดมสมองหรือ Brainstorming เป็นกระบวนการรวบรวมความคิดและไอเดียร่วมกันเป็นกลุ่มเพื่อหาทางออกหรือวิธีการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยผู้ที่เสนอไอเดียจะไม่ถูกจำกัดกรอบความคิด และไม่ถูกตัดสินว่าไอเดียนั้นถูกหรือผิด เป็นไปได้หรือไม่ ทุกคนในกลุ่มสามารถแชร์ไอเดียที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อได้อย่างอิสระ ยิ่งมีปริมาณไอเดียเยอะเท่าไหร่ ยิ่งสะท้อนให้เห็นมุมมองที่หลากหลาย และมองเห็นโอกาสที่จะนำไปสู่ข้อสรุปหรือทางออกใหม่ ๆ ได้มากขึ้นเท่านั้น

     การระดมสมองดีต่อการทำงานเป็นทีมอย่างไร…

           การระดมสมองที่ดีและมีประสิทธิภาพ จะนำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ซึ่งนอกจากจะส่งผลดีต่อเนื้องานแล้ว ยังส่งผลดีต่อการทำงานร่วมกันในทีม ดังนี้

  1. ช่วยให้ทุกคนในทีมเคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เพราะหลักในการระดมสมอง คือทุกคนมีสิทธิที่จะเสนอไอเดีย และแสดงความคิดเห็นแบบไม่ปิดกั้น ไม่ตัดสิน ไม่ว่าไอเดียนั้น ๆ จะแปลก หลุดโลก หรือซ้ำกันภายในกลุ่ม ไม่ว่าคนในทีมจะมีตำแหน่งอะไร อายุเท่าไหร่ กล้าแสดงออก หรือมีนิสัยขี้อาย ก็สามารถแชร์ไอเดียร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม
  2. มีไอเดียที่หลากหลาย การระดมสมองเป็นการแชร์ไอเดียที่เน้นปริมาณ เพื่อมองหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ เป็นการรวบรวมไอเดียจากคนที่มีประสบการณ์ มุมมอง ชุดความคิด และจินตนาการที่หลากหลายมาไว้ในที่เดียวกัน 
  3. ฝึกการทำงานเป็นทีม เป็นการกระตุ้นให้ทีมทุกคนมีส่วนร่วมในโปรเจกต์นั้น ๆ ทุกคนจะรู้สึกว่าโปรเจกต์นี้เป็นโปรเจกต์ของ “พวกเราทุกคน” ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง ส่งผลให้ทุกคนในทีมรักและเคารพกันจนสามารถพัฒนาโปรเจกต์นั้น ๆ ประสบความสำเร็จได้ในที่สุด
  4. ช่วยลดช่องว่างที่อาจเกิดขึ้นในทีม บางครั้งการทำงานร่วมกันภายในทีมอาจเกิดช่องว่างจากปัจจัยต่าง ๆ ได้ เช่น เป็นการฟอร์มทีมจากต่างแผนก ต่างอายุ แต่ละคนไม่คุ้นเคยกัน การทำงานคนละสไตล์กัน ฯลฯ การระดมสมองจะช่วยเปิดโอกาสให้ภายในทีมได้ทำความรู้จักกัน ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกัน ปรับเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติที่มีแก่กัน เมื่อทุกคนในทีมเข้าใจกันและกันมากขึ้น ช่องว่างในทีมนั้น ๆ ก็จะลดลงตามไปด้วย