Old Age

กลุ่ม Old Age ปัจจุบัน 2024 สามารถหางานทำได้ตามปกติได้หรือไม่นะ

ชาวซีเนียร์ที่ทำงานมาแล้วสักพัก คงจะมีคำถามแนว ๆ นี้แว้บเข้ามาในหัว กลัวว่าถ้าวันหนึ่งอยู่ในสถานะว่างงานขึ้น เราในวัยนี้ที่อายุเยอะแล้วจะหางานได้อยู่ไหม จะมีบริษัท องค์กร หรือ ฟรีแลนซ์ ที่ไหนรับคนอายุเยอะเข้าทำงานหรือเปล่า เพราะส่วนใหญ่แล้วมักจะรับแต่เด็กจบใหม่ ที่เงินเดือนเริ่มต้นไม่แพงมาก

ความกังวลในการหางานจะเกิดขึ้นได้ก็ไม่แปลก เพราะทุกช่วงวัย ช่วงอายุ ก็มักจะมี painpoint ในเรื่องของงานต่างกันไป เด็กจบใหม่ก็กลัวหางานยากเพราะไม่มีประสบการณ์ คนทำงานมาได้สักพักก็เบื่อแต่ไม่รู้ว่าชอบอะไร ในขณะที่คนอายุเยอะก็กลัวว่าจะหางานยากอีก ครั้นจะให้ลดเงินเดือนสู้เด็กจบใหม่ก็ยาก ด้วยความรับผิดชอบต่าง ๆ ที่แบกไว้ในช่วงวัยกลางคน

ปรับมุมคิด เปลี่ยนมุมมอง อายุเยอะไม่ใช่อุปสรรคหางานเสมอไป
สังเกตได้ว่าความคิดของคนในยุคนี้รวมถึงบริษัทต่าง ๆ มีความหัวก้าวหน้าและสมัยใหม่มากขึ้น ความเท่าเทียมเป็นสิ่งสำคัญของมนุษย์ด้วยกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร เพศและอายุไม่ใช่กรอบที่ล้อมรอบที่บอกคุณทำอะไรได้หรือไม่ได้อีกต่อไป

เรื่องแบบนี้ค่อย ๆ ปรับที่ความคิด คุณเองต้องเชื่อมั่นในศักยภาพและความสามารถตัวเองให้มาก ๆ มองอายุให้เป็นเรื่องของประสบการณ์ที่ช่ำชอง มีความเก๋าเกมในเรื่องของทักษะที่หลากหลาย ความรู้ความสามารถรอบด้าน ตลอดจนการแก้ไขปัญหาในรูปแบบต่าง ๆ ก็ผ่านมาหมดแล้ว สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เป็นจุดแข็ง ให้คุณเป็นผู้สมัครงานที่มีศักยภาพ ต่อให้จะอายุเท่าไรก็เป็นที่ต้องการในตลาดงาน

“อายุเยอะ” ไม่ใช่ “จุดด้อย” อีกต่อไป เป็นความเก่าให้เป็นความเก๋า!

ข้อได้เปรียบของคนอายุเยอะในเรื่องงาน
ที่บอกว่าอายุเยอะไม่ใช่จุดด้อยในเรื่องหางาน ไม่ได้เป็นเพียงประโยคปลอบใจหรือขายฝันกันเท่านั้น จริง ๆ แล้วการที่คุณผ่านโลกมาประมาณหนึ่งแล้วมีข้อดีหรือจุดแข็งอยู่ไม่น้อย

1.เก่าแต่เก๋าประสบการณ์
ความเก่ากับความเก๋าเป็นของคู่กันแต่คุณต้องเก๋าให้ถูกจุด รู้ว่าจุดไหนต้องเอาออกมาโชว์ ชูเป็นไฮไลต์ เอาประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาเป็นจุดแข็ง อาจจะเริ่มต้นด้วยการลิสต์เป็นข้อ ๆ โปรเจกต์ไหนที่คุณมีส่วนร่วม ผ่านงานลักษณะไหนมาบ้าง เวลามีปัญหาแก้ไขอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร ถึงตรงนี้ถึงวัยนี้คุณต้องค่อนข้างชัดเจนแล้ว

เอาสิ่งเหล่านั้นมาจัดระบบ ประมวลผลให้ดี ถ้าให้บริษัทหรือองค์กรเห็นภาพตามคุณได้ง่ายสุด คือจัดการทุกอย่างลงเรซูเม่อย่างเป็นระบบ พร้อมบอกถึงสิ่งที่ตัวคุณต้องการเรียนรู้ต่อไปในอนาคต

2.ครบจบ Soft skills and Hard skills
ข้อดีของคนอายุเยอะที่ทำงานมาสักพักแล้ว ทักษะต่าง ๆ ทั้ง Soft and Hard Skills ถูกพัฒนามาอย่างเต็มเปี่ยมและหลายด้านแล้ว ทั้งความเชี่ยวชาญในสายงาน ที่ไม่ต้องเสียเวลาสอนหรืออธิบายกันเยอะ ชั่วโมงบินสูง ลดภาระคนในทีมได้ การทำงาน Flow ขึ้น แถมบางทีอาจจะแนวทางการทำงานใหม่ ๆ จากประสบการณ์การทำงานที่หลากหลายของคนที่อายุเยอะ

ไม่ใช่แค่ความเชี่ยวชาญในสายงานเท่านั้น Soft skills ต่าง ๆ คนอายุเยอะที่ผ่านโลก ผ่านมาเยอะ ก็รอบด้านด้วย Soft skills ที่หลากหลาย รู้ว่าปัญหาแบบนี้ คนแบบนี้ต้องจัดแบบไหน ใช้วิธีพูดเจรจา Convince แนวไหนให้ลูกค้าเชื่อใจโดยไม่ปะทะ ซึ่งทักษะอะไรแบบนี้จำต้องใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนาน

3.คนอายุเยอะ อดทนต่องานหนัก
หากพูดตามลักษณะเฉพาะของแต่ละ Gen คนอายุเยอะในที่นี้ ขอแบ่งออกเป็นสอง Gen คือ กลุ่ม Baby Boomer อายุ 55 ปีขึ้นไป และ Gen X ช่วงอายุ 38-53 ปี

ลักษณะเฉพาะเรื่องการทำงานของคนในสองเจนดังกล่าวมีความคล้ายกันคือ อดทนต่องานหนัก ไม่ค่อยเปลี่ยนงานบ่อย มีความจงรักภักดีให้ที่ทำงานสูง อารมณ์แบบรักแล้วรักเลย รักแล้วอดทนได้ ซึ่งแตกต่างกับความคิดของคนทำงานรุ่นใหม่ ที่พร้อมลาออกได้เลยโดยไม่มีงานรองรับ ไม่ขออดทน เน้น Mental Health มากกว่า

ทำอย่างไรให้อายุเยอะแล้วยังเป็นที่ต้องการในตลาดงาน
นอกจากข้อได้เปรียบที่เอ่ยไปด้านบนแล้ว คุณจำเป็นต้องอัปเดตเทรนด์ต่าง ๆ ในที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอยู่เสมอ อายุเยอะแล้วจะใช้แต่ความเก๋าอย่างเดียวไม่ได้ ประสบการณ์สำคัญก็จริง แต่การเรียนรู้กับสิ่งใหม่ ๆ ในปัจจุบันก็สำคัญไม่แพ้กัน เพื่อไม่ให้เป็นคนตกยุค

1.ทันโลกยุคปัจจุบัน แก่แล้วอย่าแก่เลย
คำว่าทันโลกไม่ได้หมายความว่าเกิดอะไรขึ้นต้องรู้หมด บางเรื่องที่ควรจะต้องรู้ก็จำเป็นรู้ โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นประโยชน์ในสายงานของเราอย่างเทคโนโลยีอะไรบ้างที่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้เร็วและสะดวกขึ้น คุณก็จำเป็นต้องเรียนรู้ไว้แล้วใช้ให้เป็น AI Tools ต่าง ๆ ที่เข้ามาช่วยย่นระยะเวลาการทำงาน

อย่าทำตัวแก่แล้วแก่เลย ไม่รับการเปลี่ยนแปลง ต่อให้ประสบการณ์คุณเก๋าแค่ไหน ถ้าไม่เรียนรู้เลยก็หางานในยุคนี้ได้ยาก

2.พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ
ใจที่พร้อมจะเรียนรู้อยู่เสมอ ไม่ใช่สิ่งคนที่อายุเยอะต้อง Open เท่านั้น ควรเป็นความคิดของคนทำงานทุกรุ่นทุกวัยเลยด้วยซ้ำ แต่ในกลุ่มคนทำงานที่ทำงานมานาน อาจจะมี framework บางอย่างที่ล้อมกรอบเอาไว้จนเคยชิน จนลืมที่จะเปิดรับกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ โดยการทำงานกับเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งเราหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างน้อยถ้ารู้สึกว่าไม่พร้อมจะเปิดใจ แต่ลองเริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยฟังอย่างตั้งใจดูก่อน ดูให้ลึกซึ้ง แล้วจะซื้อ “สิ่งใหม่” เหล่านั้นไม่สำคัญ ขอแค่ลองเปิดใจที่จะเรียนรู้ดูก่อน